ปัจจุบัน
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังสู่สังคมสูงวัย มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ตามข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ปี 2567 ระบุว่า จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนผู้สูงอายุ 24% ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง 11% ผู้สูงอายุที่ดูแลกันเอง 6% และผู้สูงอายุที่รอการดูแล 6% ซึ่งมีผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดบ้านและติดเตียงเป็นจำนวนมาก
โดยปกติ หลังจากที่ผู้ป่วยเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาตัวจากโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย จำเป็นต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายอย่างต่อเนื่องเมื่อกลับบ้านไปแล้ว แต่พบว่าผู้ป่วยหลายคนกลับไม่ได้ฟื้นฟูร่างกายดีเท่าที่ควร เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ ทำให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยเกิดความล่าช้า ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง
เปลี่ยน
เทศบาลนครเชียงใหม่ จะจัดตั้ง ธนาคารอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริการให้ยืมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน โดย
- จัดซื้อและรับบริจาคอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วย เช่น รถเข็น เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจน เป็นต้น ให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สามารถทำเรื่องขอยืมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล เกี่ยวกับวิธีการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่บ้านด้วยตนเองอย่างถูกวิธี โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้
- ติดตามและตรวจสอบสภาพการใช้งานของเครื่องมือที่ถูกยืม ทุก ๆ 2 – 3 เดือน เพื่อให้เครื่องมือทุกชิ้นคงอยู่ในสภาพดี สามารถส่งต่อให้ผู้อื่นใช้งานได้ในอนาคต
เชียงใหม่ได้อะไร
- มีธนาคารอุปกรณ์การแพทย์ ประจำ 1 จุด ต่อ 3 ชุมชน ให้บริการยืมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการรักษาร่างกายของผู้ป่วย
- ผู้ป่วย คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย มีการฟื้นฟูร่างกายด้วยตนเองที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวผู้ป่วย ลดความแออัดของโรงพยาบาล สามารถกระจายผู้ป่วยที่เริ่มอาการดีขึ้นให้กลับมารักษาต่อที่บ้านได้