47. เปลี่ยนงานอาสาสาธารณสุขเป็นนักบริบาลอาชีพ เจ็บป่วยดูแลทั่วถึงทุกครัวเรือน

ปัจจุบัน

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า อสม. เป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชน เปรียบเสมือนด่านแรกในการดูแลสุขภาพของชุมชน มีหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพอนามัย รวมถึงให้บริการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ เช่น  ให้คำแนะนำ เฝ้าระวังป้องกันโรค ช่วยเหลือและรักษาพยาบาลขั้นต้น ซึ่ง อสม. จะถูกคัดเลือกจากคนในชุมชน และต้องเป็นคนในชุมชนนั้น ๆ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชน การมีส่วนร่วมของ อสม. จึงส่งผลดีต่อสุขภาพชุมชน ประชาชนมีสุขภาพดี โรคภัยไข้เจ็บลดลง เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น และสังคมเข้มแข็ง

ในปัจจุบัน อสม. เป็นการทำงานแบบอาสาสมัคร โดยจะไม่ได้รับเงินเดือน แต่จะได้รับค่าตอบแทนเป็น ‘ค่าป่วยการ’ จำนวน 2,000 บาท ต่อเดือน ในปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีคนที่ทำงานเป็น อสม. เกือบ 37,00 คน (อ้างอิงจากฐานข้อมูล ฌกส. – อสม. จังหวัดเชียงใหม่ จากระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน ปี 2567) แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทั้งรายได้และสวัสดิการ รวมถึงทักษะการปฏิบัติงานต่าง ๆ เกิดจากการฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน จึงไม่ถูกนับเป็นวิชาชีพ ทำให้การให้บริการทางสาธารณสุขแก่คนในชุมชนยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ 

เปลี่ยน

เทศบาลนครเชียงใหม่จะทำการยกระดับและพัฒนาคุณภาพของ ‘อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน’ เปลี่ยนจากงานอาสาให้เป็นอาชีพ โดย

  • ปรับปรุงขอบเขตของงานอาสาสมัคร มีประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร ได้รับสวัสดิการครอบคลุมทั่วถึง ปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนสู่การเป็นอาชีพหลัก
  • เพิ่มหลักสูตรอบรมยกขีดความสามารถของ อสม. ให้มีความสามารถและทักษะเฉพาะทาง สามารถดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในกรณีพิเศษได้ และได้รับค่าตอบแทนเพิ่มตามปริมาณงานที่ทำ   
  • สนับสนุนทุนการศึกษา สำหรับต่อยอดองค์ความรู้สู่วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน  

เชียงใหม่ได้อะไร

  • เกิดอาชีพ อสม. ที่มีความก้าวหน้าทางสายอาชีพด้านสาธารณสุข มีการพัฒนาเลื่อนระดับตามความสามารถ ได้รับค่าตอบแทนเหมาะสม
  • อสม. มีศักยภาพ มีความสามารถเฉพาะทาง สามารถให้บริการด้านสุขภาพในระดับปฐมภูมิแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ลดปัญหาที่เกี่ยวกับสาธารณสุขในชุมชน เช่น สุขอนามัย โรคระบาด การขาดโภชณาการ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ
Scroll to Top