ปัจจุบัน
ปัจจุบันพื้นที่ทางเดินริมน้ำปิงตลอดแนวไม่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงทั้งลักษณะทางกายภาพและการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในเมือง เนื่องจากคนส่วนมากสัญจรทางถนนเป็นหลัก แม่น้ำทำหน้าที่ในการระบายน้ำ พื้นที่ริมน้ำจึงถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญ บางจุดเป็นเพียงพื้นดินรกร้างไม่สามารถใช้งานได้
เขตพื้นที่ในระยะ 5-10 เมตรตลอดริมแม่น้ำปิง เป็นพื้นที่ในส่วนราชการของกรมเจ้าท่า ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาปรับปรุงให้เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวของเมือง โดยจะพัฒนาเป็นทางเดินเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ บริเวณริมน้ำ ตลาด ชุมชน ร้านอาหาร วัด รวมถึงปรับปรุงเป็นพื้นที่สวนสาธารณะสีเขียว กระตุ้นให้คนในเมืองออกมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน สนับสนุนการเป็นเชียงใหม่เมืองเดินได้ เดินดี เชื่อมโยงวิถีชีวิตของคน แม่น้ำ และเมืองเข้าด้วยกันอีกครั้ง
เปลี่ยน
เทศบาลนครเชียงใหม่จะปรับปรุงพื้นที่ทางเดินริมน้ำปิงให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวของเมือง โดย
- ปรับปรุงพื้นที่ในระยะ 5-10 เมตร ตลอดริมแม่น้ำปิงให้สามารถเดินเชื่อมถึงกันได้ จัดระเบียบร้านค้า ปรับปรุงคุณภาพของพื้นทางเดิน เพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ เพิ่มระบบรักษาความปลอดภัย มีที่นั่งสาธารณะและจุดทิ้งขยะ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพของน้ำให้สะอาดตามมาตรฐาน
- บริเวณพื้นที่ริมน้ำปิงที่มีขนาดเพียงพอจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะขนาดกลางและขนาดเล็ก รองรับการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อชุมชน เช่น พื้นที่พักผ่อน ลานออกกำลังกาย จัดงานเทศกาล
- วัสดุก่อสร้างไม่จำเป็นต้องเป็นคอนกรีดหรือที่เป็นพื้นดาดแข็ง เพื่อให้พื้นผิวการเดินสามารถดูดซับน้ำเมื่อฝนตกได้ สามารถใช้กั้นน้ำท่วมได้ในตัว
เชียงใหม่ได้อะไร
- มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวตลอดริมน้ำปิง ทัศนวิสัยของเมืองดีขึ้น อากาศดี เมืองน่าอยู่ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน
- ผู้คนออกมาทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ เพิ่มความสัมพันธ์ทางสังคม คนเชียงใหม่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ
- เศรษฐกิจของเมืองในย่านริมน้ำพัฒนาขึ้น มีการหมุนเวียนของนักท่องเที่ยวและประชาชน กระจายรายได้สู่ร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อย มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้น