36. พัฒนา 2 ข่วง 4 วัดประวัติศาสตร์ สู่พื้นที่สาธารณะ เชื่อมโยงมรดกโลกเชียงใหม่

ปัจจุบัน

เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีสถาปัตยกรรมล้านนา ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ และแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีชีวิต (Living Old City) อย่างไรก็ตาม พื้นที่สำคัญเหล่านี้ยังขาดการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และขาดการเชื่อมโยงระหว่างแหล่งมรดกหลัก ทำให้คุณค่าทางวัฒนธรรมของเมืองค่อยๆ ถูกลดทอน

องค์การ ยูเนสโก (UNESCO) กำลังพิจารณาขึ้นทะเบียน “มรดกโลกเชียงใหม่” โดยครอบคลุม วัดสำคัญ 7 แห่ง ได้แก่ วัดเชียงมั่น, วัดอุโมงค์, วัดพระสิงห์ฯ, วัดสวนดอก, วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ, วัดเจดีย์หลวง และวัดเจ็ดยอด รวมถึงแนวคูเมือง กำแพงเมือง แจ่ง 4 แห่ง และประตูเมือง 5 แห่ง ซึ่ง 4 ใน 7 วัดนี้ อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้แก่ วัดเชียงมั่น (วัดแรกของเชียงใหม่ มีเจดีย์ช้างล้อม) วัดสวนดอก (ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในอดีต มีเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์) วัดพระสิงห์ (เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง) และ วัดเจดีย์หลวง (มีเจดีย์เก่าแก่ที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่)

เปลี่ยน

เทศบาลนครเชียงใหม่ สนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยพัฒนาระบบแวดล้อมรอบวัด เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ โดยจะดำเนินการดังนี้

  • ประตูท่าแพ & ประตูช้างเผือก (2 ข่วงสำคัญ)
    • ปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างพื้นที่กิจกรรมและพื้นที่สีเขียว
    • ขยายทางเท้า ปรับปรุงถนนให้รองรับกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
    • พัฒนาระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นมาตรฐานสากล
  • วัดเชียงมั่น, วัดสวนดอก, วัดพระสิงห์, และวัดเจดีย์หลวง (4 วัดประวัติศาสตร์)
    • ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการขยายฟุตบาท ปรับปรุงทางเดินเท้าให้เป็นมิตรกับคนเดิน ลดป้ายโฆษณาเชิงพาณิชย์ที่บดบังทัศนียภาพโบราณสถาน และ ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและสายสื่อสารให้อยู่ใต้ดิน ลดมลภาวะทางสายตา
    • พัฒนาโครงสร้างรองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยการจัดทำป้ายสื่อความหมายที่สวยงามน่ามองและได้มาตรฐานยูเนสโก ออกแบบพื้นที่รอบวัดให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ล้านนา และเชื่อมโยงพื้นที่กับระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดปัญหาการจราจร
    • บริหารจัดการพื้นที่ค้าขายรอบโบราณสถานให้เป็นระเบียบและส่งเสริมกิจกรรมชุมชน เช่น การสาธิตงานหัตถกรรมล้านนา ตลาดวัฒนธรรม พิธีกรรมประเพณี และ ฟื้นฟูงานหัตถกรรมล้านนาและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่รอบวัด

เชียงใหม่ได้อะไร

  • เชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นเมืองมรดกโลกยูเนสโก ดึงดูดนักท่องเที่ยวสายอนุรักษ์และสร้างมูลค่าให้กับวัด วัฒนธรรม และชุมชน ซึ่งจะพัฒนาเมืองโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ อนุรักษ์ความเป็นล้านนาไว้
  • ยกระดับพื้นที่ประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่สาธารณะ ให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้งานร่วมกัน เกิดกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม พื้นที่สาธารณะช่วยให้ประชาชนได้พบปะและรักษาวัฒนธรรมร่วมกัน โดยไม่ยังคงคุณค่าเดิมและทำให้อยู่ในชีวิตปัจจุบัน กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย
  • ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับคนในชุมชน เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและที่ดิน ทำให้เมืองเชียงใหม่เติบโตอย่างยั่งยืน

นโยบายใกล้เคียง