87. ประชาชนแลกเปลี่ยน เสนอแนวคิดและพัฒนาเมือง ร่วมกับเทศบาล

ปัจจุบัน

การมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เทศบาล ผู้บริหาร หรือนักออกแบบเมือง แต่ควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามากำหนดทิศทางในการพัฒนาเมือง ตลอดจนแก้ไขปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้การบริหารจัดการเมืองดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่สังคมพลเมืองหรือประชาสังคม (Civil Society)

ปัจจุบันมีภาคประชาสังคมจำนวนมากที่พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ เกิดการรวมกลุ่มของคนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป นักวิชาการ พระสงฆ์ หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการพัฒนาเมือง เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเด็นที่ตนเองสนใจ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่องในการหารือนโยบายต่างๆ แต่อุปสรรคในการดำเนินงานคือการขาด ‘พื้นที่กลาง’ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกลุ่มคนแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการจัดการระบบยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ 

เปลี่ยน

เทศบาลนครเชียงใหม่จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเมือง โดย

  • จัดกิจกรรม Hackathon เป็นการระดมสมองร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อเข้ามาพูดคุย ปรึกษาแลกเปลี่ยนแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างสรรค์นโยบายต่างๆ ในทุกชุมชน
  • ประชาชนสามารถลงชื่อในระบบออนไลน์ เพื่อเสนอโครงการ หรือ ข้อบัญญัติ รวมทั้งข้อเสนอแผนพัฒนาท้องถิ่นได้ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงชื่อร้องขอเพื่อให้ สภาฯ พิจารณาออกข้อบัญญัติต่างๆ ตามความเหมาะสม
  • เทศบาลทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงแต่ละฝ่าย ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ที่มีความหลากหลายสาขา และอาชีพ ให้มีพื้นที่กลางและข้อมูลกลางในการประสานการดำเนินงานต่างๆ ให้เชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ 

เชียงใหม่ได้อะไร

  • ‘คนและเมือง’ เกิดการพัฒนาร่วมกัน ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม ในการออกแบบและพัฒนาเมืองไปพร้อมกับภาครัฐ แนวทางและนโยบายต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ความคิดเห็นของประชาชนนำไปสู่ทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาภายในชุมชนหรือท้องถิ่นได้จริง
  • คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในประเด็นการพัฒนาเมืองมากขึ้น เกิดการช่วยเหลือในกันในชุมชนอย่างเข้มแข็ง
Scroll to Top