ปัจจุบัน
ปัจจุบัน เทศบาลหรือชุมชนในแต่ละท้องที่มีการจัดตั้งกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิต โดยสมาชิกที่ต้องการเข้าร่วมกองทุนจะต้องชำระเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นรายเดือนหรือรายปีตามที่กองทุนกำหนด ซึ่งเงินสมทบนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเงินช่วยเหลือในกรณีที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต โดยในการจัดงานฌาปนกิจหนึ่งครั้งนั้น นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าศาลา ค่าบำเพ็ญกุศล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นภาระหนักโดยเฉพาะสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ในขณะที่ปัญหาขยะในชุมชนก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เทศบาลนครเชียงใหม่จึงเห็นโอกาสในการเชื่อมโยงปัญหาขยะเข้ากับการลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวเหล่านี้ ผ่านนโยบาย “ฌาปนกิจสีเขียว” ที่ใช้ขยะเป็นทรัพยากรสำหรับกองทุนฌาปนกิจ
เปลี่ยน
- เทศบาลนครเชียงใหม่จะจัดตั้งกองทุนฌาปนกิจสีเขียว ที่เปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อย สามารถขายขยะที่ธนาคารขยะของเทศบาล ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปขายต่อเพื่อนำเงินเข้ากองทุนฌาปนกิจ สมาชิกไม่จำเป็นต้องชำระเงินสมทบตามกำหนด แต่สามารถใช้เงินจากขยะสะสมไว้ใช้จ่ายในการจัดงานฌาปนกิจเมื่อสมาชิกเสียชีวิต
- จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลการดำเนินงานและบริหารเงินกองทุนให้เป็นไปอย่างโปร่งใส รวมถึงการจัดการกับเงินสมทบที่ได้รับจากสมาชิก และการจ่ายเงินสนับสนุนเมื่อมีการร้องขอ
- ส่งเสริมให้สถานศึกษามีการผลักดันให้นักเรียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อเป็นการปลูกฝังการแยกขยะ และเป็นการฝึกการทำความเข้าใจรูปแบบกองทุน หรือสมาคมต่างๆ ในสังคม
เชียงใหม่ได้อะไร
- ครอบครัวที่มีรายได้น้อยซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสามารถนำขยะมาขายที่ธนาคารขยะเทศบาล เพื่อนำเงินไปสมทบกองทุนฌาปนกิจ ลดภาระการชำระเงินเป็นรายเดือนหรือรายปี
- ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เมื่อขยะถูกนำไปรีไซเคิลหรือนำไปขาย จะเป็นการลดปริมาณขยะในชุมชน ช่วยรักษาความสะอาดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปฐมวัยจะมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะและการแยกขยะตั้งแต่อายุยังน้อย ฝึกทักษะด้านการจัดการและการทำงานร่วมกันในสังคม