ปัจจุบัน
ปัญหาสัตว์จรจัดมีให้พบเห็นอยู่ทั่วไปตามท้องถนน บางตัวเคยมีเจ้าของแต่ถูกทอดทิ้ง หนีออกจากบ้าน หรือตัวเมียไม่ได้ทำหมันทำให้มีลูกเยอะเกินจนเลี้ยงไม่ไหว ถูกนำไปปล่อยทิ้งตามวัด บ่อขยะ ที่รกร้างในชุมชน ทุกตัวล้วนไม่ได้รับการดูแลจัดการอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆ เช่น ทำลายข้าวของ วิ่งไล่รถ ไล่กัดคน สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน ไปจนถึงปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ เช่น พิษสุนัขบ้า
ปัจจุบันในเชียงใหม่ให้บริการสัตวแพทย์แบบเชิงรับโดยเทศบาลและกรมปศุสัตว์ ซึ่งส่งผลให้การจัดการปัญหาสัตว์จรจัดยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งปัญหาหลักคือการจับสัตว์จรจัดทำได้ยาก เจ้าหน้าที่มีน้อย ศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยงไม่เพียงพอต่อการรองรับสัตว์จรจัด รวมถึงงบประมาณในการจัดหาวัคซีน ค่าทำหมัน ค่าอาหารและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เทศบาลนครเชียงใหม่ มูลนิธิและกลุ่มคนรักสัตว์พยายามขับเคลื่อนเพื่อหาทางออกให้สัตว์จรจัดอยู่ร่วมกับชุมชนได้
เปลี่ยน
- ให้บริการสัตวแพทย์แบบเชิงรุก พิจารณาฝังชิปเพื่อขึ้นทะเบียนสัตว์จรจัด คอยติดตามโรคระบาด ทำหมันและฉีดวัคซีนสัตว์จรจัดในแต่ละชุมชน
- บริการศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยง โดยร่วมมือกับหน่วยงานหรือภาคเอกชน ให้ที่พักพิงแก่สัตว์ที่เฝ้าระวังพิษสุนัขบ้า สัตว์จรจัดที่ดุร้าย เพื่อรอการรักษา
- จัดหาบ้านให้สัตว์จรจัด รณรงค์การรับเลี้ยงลูกสุนัขและลูกแมวจรแทนการซื้อ ผ่านแคมเปญ ‘Adopt don’t shop’ ลดจำนวนสัตว์จรจัด
เชียงใหม่ได้อะไร
- สัตว์จรจัดในเชียงใหม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นระบบ ทั้งทำหมัน วัคซีน ได้รับอาหาร มีที่พักพิงให้ความช่วยเหลือและจัดหาบ้าน
- คนในชุมชนและสัตว์จรจัดอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปลอดภัยจากโรคระบาด ลดปัญหาและอันตรายจากสัตว์จรจัด