ปัจจุบัน
ความมั่นคงทางอาหารเป็นความท้าทายใหม่ของสังคมเมือง การเติบโตของสังคมและการบริโภคของผู้คนทำให้อาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถูกผลิตขึ้นมาจำนวนมากและไม่สามารถบริโภคได้ทัน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ส่งผลให้มีอาหารเหลือทิ้งมากกว่า 1 ใน 3 ของผลผลิต ก่อให้เกิดการเพิ่มปริมาณขยะจากอาหารและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันเมืองเชียงใหม่ก็มีกลุ่มคนเปราะบางอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและถูกสุขอนามัย เช่น คนไร้บ้าน คนยากจน กลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ติดบ้าน ติดเตียง ปัญหานี้สะท้อนถึงการจัดการระบบอาหารในเมืองที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่ทั่วโลกใช้ในการจัดการอาหารส่วนเกิน คือ ธนาคารอาหาร เพื่อกระจายอาหารสู่กลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
เปลี่ยน
เทศบาลนครเชียงใหม่ จะเป็นตัวกลางในการจัดการปัญหาอาหารเหลือทิ้งส่วนเกิน โดย
- จัดตั้งธนาคารอาหารโดยประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริจาค เช่น ผู้ผลิตอาหาร ธุรกิจโรงแรม ที่มีอาหารที่ใกล้หมดอายุ หรือผลิตแล้วไม่สามารถจำหน่ายได้ทัน นำมาแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานภาคประชาสังคม มูลนิธิต่างๆ เพื่อกระจายสู่ชุมชนหรือกลุ่มเปราะบางในเมือง
- สร้างระบบกลางที่ใช้ในการประสานเพื่อจัดสรรการรับส่งอาหารอย่างเป็นระบบ ผ่านการลงทะเบียน สามารถตรวจสอบได้
- ควบคุมคุณภาพอาหารที่รับบริจาคอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อผู้รับบริจาค
เชียงใหม่ได้อะไร
- กลุ่มคนเปราะบางได้รับบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ถูกสุขขอนามัย เยียวยาให้กลุ่มเปราะบางสามารถผ่านช่วงเวลายากลำบาก ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
- ลดปริมาณอาหารส่วนเกินที่กลายเป็นขยะ (Food Waste) ในชุมชน ใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด สิ่งแวดล้อมโดยรวมของเมืองดีขึ้น
- เกิดระบบความมั่นคงทางอาหารอย่างเป็นรูปธรรมในเมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืน สามารถรับมือในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤติ เช่น โควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาอาหารพุ่งสูง