ปัจจุบัน
หลังจากเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดและวิกฤติทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านปากท้องและสุขภาพ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารของคนในเมือง ทั้งอาหารราคาสูง อาหารขาดคุณภาพ และภาวะขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ ส่งผลเสียต่อประชาชนในจังหวัดทั้งทางตรงและทางอ้อม
หนึ่งในโครงการสำคัญที่มีส่วนช่วยในการจัดการปัญหานี้คือ โครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ นำโดยกลุ่มสถาปนิก ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ ร่วมกับกลุ่มภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและภาครัฐ ที่เปลี่ยนพื้นที่รกร้างกลางเมืองขนาด 3 ไร่ ให้กลายเป็นสวนผักสาธารณะของชุมชนที่คนในเมืองมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ มีพื้นที่ปลูกผัก เลี้ยงไก่ โซนผลไม้ เกิดพื้นที่สาธารณะทางสังคมขนาดใหญ่ที่คนสามารถเข้ามาใช้งานได้จริง นอกจากนี้ผลิตผลจากในโครงการยังสามารถเลี้ยงคนได้ถึง 300 ครัวเรือนในช่วงวิกฤติ ผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม แก้ไขปัญหาคนตกงาน และยังให้ความรู้ในการเริ่มต้นปลูกผัก สามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ แตปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ยึดเอาไปทำเองและทำได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก
เปลี่ยน
- พัฒนาต่อยอดสวนผักคนเมืองสู่ศูนย์การเรียนรู้ทางเกษตรของเทศบาลนครเชียงใหม่ ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การปลูกผักผลไม้ เลี้ยงสัตว์ แปรรูปอาหาร และตลาดเกษตร กระจายอาหารคุณภาพสู่ประชาชนทุกกลุ่ม
- เพิ่มพื้นที่สวนผักคนเมืองอย่างน้อยแขวงละ 1 แห่ง โดยจัดหาพื้นที่สาธารณะขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในเมืองที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกอาจะเป็นพื้นที่ของรัฐที่มีอยู่เดิม พื้นที่ถูกทิ้งร้าง หรือร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมและเสริมพื้นที่สวนผักขนาดเล็กกระจายไปตามจุดย่อยของเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง เช่น บริเวณดาดฟ้า ลานสาธารณะ หรือในหน่วยงานต่าง ๆ
- จัดการปัญหาขยะขยะอินทรีย์ในเมืองรวมถึงขยะย่อยสลายยาก นำกลับมาเป็นปัจจัยการผลิต เช่น ถังพลาสติก ขวดน้ำ ล้อรถยนต์ที่ไช้แล้ว วัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นภาชนะปลูกผัก ปุ๋ยอินทรีย์ หมุนเวียนทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เชียงใหม่ได้อะไร
- มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดใหญ่ในเมืองอย่างทั่วถึง มีสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ที่ดี เพิ่มพื้นที่ปอดให้กับเมืองโดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ลดปัญหาขยะในเมือง
- มีตลาดสินค้าเกษตรแบบหมุนเวียน มีสินค้าเกษตรราคาถูก คนในเมืองรวมไปถึงกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ลดภาระค่าใช้จ่าย เศรษฐกิจดีขึ้น มีระบบความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
- เกิดกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ มีการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันในชุมชน ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันโดยไม่แบ่งแยก คนในเมืองมีสุขภาพกายและใจดีขึ้น