ปัจจุบัน
จังหวัดเชียงใหม่มีการประกาศห้ามเผาขยะในช่วงฤดูฝุ่นควันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายนของทุกปีเพื่อควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเผาขยะยังคงเกิดขึ้นตลอดทั้งปีในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ประชาชนเสี่ยงเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็มากขึ้น และสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ถดถอย จากสารเคมีอันตรายจากการเผาขยะ ไม่ว่าจะเป็นไดออกซิน เบนซิน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมลพิษขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษในปี 2566 พบว่า ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติถึง 101 วันต่อปี และหากดูค่าเฉลี่ยนเกณฑ์มาตรฐานไทยที่ 37.5 ก็ยังเกินเกณฑ์ถึง 98 วัน
เปลี่ยน
- เทศบาลนครเชียงใหม่จะดำเนินการจัดตั้งโรงงานจัดการขยะที่ทันสมัย เพื่อรีไซเคิลและแปรรูปขยะเป็นพลังงานและวัสดุที่มีประโยชน์ ลดการพึ่งพาการเผาขยะ ทำให้การจัดการขยะในพื้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- เทศบาลนครเชียงใหม่จะส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ด้วยการจัดตั้งโครงการรณรงค์และให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะที่บ้านและสถานที่ทำงาน พร้อมสนับสนุนถังขยะและอุปกรณ์คัดแยกขยะในทุกชุมชน เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพและลดปริมาณขยะที่จะต้องนำไปเผา
- เทศบาลจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการห้ามเผาขยะตลอดทั้งปี พร้อมจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบและป้องกันการเผาขยะ รวมถึงมีการติดตามและรายงานสถานการณ์ฝุ่นควันอย่างต่อเนื่อง จากเครื่องตรวจวัดควันที่กระจายอยู่ในทุกชุมชน
เชียงใหม่ได้อะไร
- คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น จากการลดการเผาขยะจะช่วยลดมลพิษทางอากาศและค่าฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้คุณภาพอากาศในเชียงใหม่ดีขึ้น
- สุขภาพประชาชนที่ดีขึ้น เนื่องจากมลพิษทางอากาศลดลง ส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชน ลดความเสี่ยงจากโรคทางเดินหายใจและโรคอื่นๆ ที่เกิดจากมลพิษ
- การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเกิดจาก การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ ไม่ให้เป็นภาระของประชาชนฝ่ายเดียว