66. รถบริการชุมชน เจ็บป่วย หายไว ส่งรักษาถึงที่

ปัจจุบัน

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงระบบการักษาพยาบาลได้ คือ ปัญหาด้านการเดินทาง เนื่องจากไม่มีระบบการรับส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล ในกรณีของผู้ป่วยที่ไม่มีทุนทรัพย์ ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว อาศัยในพื้นที่ห่างไกล หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่สามารถเดินทางไปด้วยตนเองได้

ในปัจจุบัน การช่วยเหลือประชาชนในกรณีการรับส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล ต้องเป็นผู้ป่วยที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ โดยการใช้บริการรถส่วนกลางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รถพยาบาล รถฉุกเฉินของมูลนิธิต่าง ๆ  ซึ่งเกิดปัญหาความล่าช้า มีรถให้บริการไม่เพียงพอ ในกรณีจ้างรถรับส่งผู้ป่วยด้วยตนเองอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 500 – 2,000 บาทต่อครั้ง  

ปัญหานี้ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทันเวลาและมีคุณภาพ หรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ตามอาการจนนำไปสู่การสูญเสียในที่สุด บางคนถึงขั้นไม่ยอมเข้ารับการรักษาเพราะไม่มีรถไป 

เปลี่ยน

เทศบาลนครเชียงใหม่จะดำเนินการช่วยเหลือในการรับ – ส่งผู้ป่วยจากบ้านถึงสถานพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาตามที่แพทย์นัดหมายได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดย 

  • จัดให้มีรถบริการชุมชน เป็น “รถส่วนกลาง” ตามแนวทางหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 7508 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ที่สามารถนำพาผู้ป่วยที่ไม่มีทุนทรัพย์ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายอย่างปลอดภัย เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ใกล้บ้าน โดยไม่ใช่รถฉุกเฉิน หรือ รถพยาบาล ( Ambulance ) แขวงละ 1 คัน จำนวน 4 แขวง ประกอบด้วย แขวงนครพิงค์ แขวงกาวิละ แขวงเม็งราย และแขวงศรีวิชัย
  • ทำระบบการลงทะเบียน คัดกรองผู้ป่วยที่มีใบนัดจากโรงพยาบาล และระบบจองคิวรถให้สะดวก เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ สามารถใช้บริการได้จริง มีผู้ประสานงานระหว่างโรงพยาบาลและผู้ป่วย

เชียงใหม่ได้อะไร

  • มีรถบริการชุมชนอย่างทั่วถึงในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ สามารถให้บริการรับส่งผู้ป่วยได้รวดเร็ว มีปริมาณเพียงพอต่อผู้ใช้งาน
  • เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยได้รับความต่อเนื่องในการรักษา สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ลดภาระค่าใช้จ่ายลง
  • ลดภาระของรถพยาบาล และรถพยาบาลฉุกเฉิน ( Ambulance ) สำหรับใช้ในกรณีผู้ป่วยวิกฤต
Scroll to Top