ปัจจุบัน
เชียงใหม่ประสบปัญหาอุทกภัยมานานตลอดหลายปี สาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นทุกปี น้ำป่าไหลหลาก ระบบระบายน้ำสาธารณะไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำในช่วงที่น้ำท่วมระดับวิกฤต น้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากครัวเรือนสู่ลำคลองสาธารณะ รวมไปถึงปัญหาท่อระบายน้ำเกิดการอุดตันจากตะกอนดินและสิ่งปฏิกูล จนท่อระบายน้ำบางแห่งเหลือพื้นที่ระบายน้ำเพียง 20-30 เซนติเมตร จากความลึก 120 เซนติเมตร โดยปกติการจัดการน้ำท่วมระดับวิกฤต จะให้พื้นที่โซนใต้เป็นพื้นที่รับน้ำ ทำให้ชุมชนในพื้นที่แขวงเม็งรายได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเมือง การสัญจรลำบาก บ้านเรือนเสียหาย เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชะลอตัว
เปลี่ยน
- เทศบาลนครเชียงใหม่จะขุดลอกท่อปีละ 300 กิโลเมตร ทำความสะอาดและเปิดทางน้ำไหลผ่านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง
- เพิ่มทางระบายน้ำในจุดน้ำท่วมย่อยของเมือง ออกแบบขยายท่อระบายน้ำที่สามารถรองรับมวลน้ำจำนวนมากให้ไหลผ่านไปลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้สะดวกขึ้น เช่น พื้นที่ซอยย่อยต่าง ๆ
- วางแผนจัดการพื้นที่ระบายน้ำของเมือง สร้างแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมจากสถิติในอดีต โดยการจำลองพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าน้ำจะท่วม ความลึกของน้ำที่ท่วม รวมทั้งข้อมูลสำหรับการอพยพ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลและเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม
เชียงใหม่ได้อะไร
- ลดปัญหาน้ำท่วมขังตามถนนและบ้านเรือนในช่วงหน้าฝน น้ำระบายลงสู่ระบบสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ การสัญจรไม่ติดขัด
- ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง มีระบบจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
- ประชาชนปลอดภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมวิกฤต ทั้งบ้านเรือนและทรัพย์สิน มีการรับมือได้อย่างถูกวิธี