51. พัฒนา 3 ย่านประวัติศาสตร์ สู่พื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรม

ปัจจุบัน

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีศักยภาพสูงในการดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีทุนวัฒนธรรมซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเก่า ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ประเพณีวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ รวมไปความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต (Living old city) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นประมาณ 30% (อ้างอิงจากสถิติสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศ รายจังหวัด ปี 2567 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) แต่พบว่าหลายพื้นที่ในเขตเมืองเก่ากลับไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งในทางกายภาพ การเข้าถึง และการใช้ประโยชน์ ส่งผลให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่ถูกลบเลือนไป

จากการศึกษาโครงการจัดทำแผนเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเชียงใหม่เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรม 4.0 โดยมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (Public Policy Studies Institute Foundation: PPSI) พบว่ามี 3 ย่าน ในพื้นที่เมืองเก่า ได้แก่ ย่านประตูช้างเผือก ย่านแจ่งศรีภูมิ และย่านแจ่งกู่เฮือง ที่มีความเหมาะสมต่อการอนุรักษ์และพัฒนาเชิงสร้างสรรค์  สามารถปรับปรุงพื้นที่กายภาพให้เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะทางสังคม นำทุนเดิมของพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยคนในชุมชน ก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

เปลี่ยน

เทศบาลนครเชียงใหม่จะทำการปรับปรุงพื้นที่ 3 ย่านในเขตเมืองเก่าให้เกิดการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ โดย

  • ย่านประตูประตูช้างเผือก: ขยายพื้นที่ให้เชื่อมต่อไปยังวัดปันสาทและขนส่งช้างเผือก ปรับพื้นที่เชิงกายภาพให้กลายเป็นข่วงกิจกรรมหลักของเมือง สามารถจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม สร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ในและนอกเขตกำแพงเมือง
  • ย่านแจ่งศรีภูมิ: ยกระดับย่านแจ่งศรีภูมิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองเชียงใหม่ในฐานะพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญของเมือง ทั้งในด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ปรับปรุงพื้นที่ทำการงานรักษาความสะอาดแขวงนครพิงค์ให้เป็นส่วนกิจกรรมเอนกประสงค์ (Mixed-Used) ประชาชนสามารถใช้งานได้
  • ย่านแจ่งกู่เฮือง: ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณแจ่งกู่เฮือง เชื่อมต่อกับสวนบวกหาดและสวนกาญจนาภิเษก เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ขยายทางเท้าและปรับปรุงผิวถนนเพื่อชะลอความเร็วรถ

เชียงใหม่ได้อะไร

  • เกิดกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นมีพื้นที่ทางสังคมให้คนออกมาพบเจอกัน ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่น
  • มีพื้นที่สาธารณะที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นศูนย์รวมนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน เพิ่มมูลค่าที่ดิน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนมากขึ้น
Scroll to Top