ปัจจุบัน
อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภออย่างเป็นทางการ ประชาชนจึงต้องไปใช้บริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สวนดอก) หรือโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งสร้างความแออัดและคิวที่ยาวนานในการรับการรักษาพยาบาล จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่ ปี 2566 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีผู้ป่วยเฉลี่ยถึง 500 คนต่อวัน
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากขีดจำกัดของโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2532 ด้วยเป้าหมายที่จะให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การให้บริการของโรงพยาบาลถดถอยลง เนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีเพียง 20 เตียง มีหมอ 10 คน ทันตแพนทย์ 5 คน พยาบาล30 คน (ข้อมูลเพิ่มเติมของสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ ปี 2554) และเปิดทำการตามเวลาราชการ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่สามารถตอบความต้องการของประชากรในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ได้อย่างเพียงพอ
เปลี่ยน
- เทศบาลนครเชียงใหม่ยกระดับโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ให้เป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ (Secondary Care) โดยการสร้างหอผู้ป่วยใหม่ ห้องผ่าตัด และเพิ่มจำนวนเตียง เครื่องมือทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ เภสัชกร และพยาบาล เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ
- จัดตั้งคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการเพื่อให้บริการเพิ่มเติม เช่น การผ่าตัดเบื้องต้น และสามารถเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากผู้ป่วยที่มีกำลังจ่าย รวมถึงการรับประกันสุขภาพจากนักท่องเที่ยว
- ใช้ระบบ outsourcing ในการจ้างบุคลากรจากหน่วยงานรัฐอื่นหรือเอกชน รวมถึงสร้างพันธมิตรกับโรงพยาบาลรัฐ เพื่อดูแลผู้ป่วยในเขตเทศบาลแบบไร้รอยต่อ”
เชียงใหม่ได้อะไร
- ประชาชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่สามารถเข้าถึงการรักษาเจ็บป่วยเบื้องต้นและฉุกเฉินได้อย่างสะดวก ลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่
- โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ เช่น การผ่าตัดและหอผู้ป่วย
- การยกระดับโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิจะสร้างมาตรฐานการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในเชียงใหม่