ปัจจุบัน
“ประปาหัวแดง” หรือ หัวจ่ายน้ำดับเพลิง (Fire Hydrant) เป็นอุปกรณ์สำหรับจ่ายน้ำที่ติดตั้งตามถนนหรือทางเดินในพื้นที่เมือง โดยเฉพาะในบริเวณที่มีอาคารพาณิชย์หรือชุมชน ประปาหัวแดงถูกออกแบบมาเพื่อให้หน่วยดับเพลิงหรือหน่วยกู้ภัยสามารถเชื่อมต่อท่อน้ำดับเพลิงเข้ากับแหล่งน้ำได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ สะดวกต่อการใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ปัจจุบันจำนวนประปาหัวแดงยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานในหลายพื้นที่ที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อบ้านเรือน ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชนหากไม่สามารถดับเพลิงได้ทันเวลา ซึ่งอัตราการเกิดอัคคีภัยถือเป็นร้อยละ 50 ของการเกิดสาธารณะภัยทั้งหมด (อ้างอิงจากสถิติสาธารณะภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี 2567) การเพิ่มจำนวนประปาหัวแดงให้ทั่วถึงทุกพื้นที่จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยและความพร้อมในการรับมือกับเหตุเพลิงไหม้ให้ดียิ่งขึ้น
เปลี่ยน
- สำรวจพื้นที่ที่ต้องการการติดตั้งประปาหัวแดงเพิ่มเติม เช่น เขตพื้นที่เข้าถึงยาก เพื่อเพิ่มจำนวนประปาหัวแดง โดยเฉพาะในเขตชุมชนหนาแน่น เช่น ชุมชนในพื้นที่ตำบลหายยา, ช้างเผือก, รวมทั้งตลาดและชุมชนแออัด
- ตรวจสอบบำรุงรักษาประปาหัวแดงที่มีอยู่เดิมในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ใช้เทคโนโลยีในการติดตามสถานะ เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ เพื่อให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา
- ร่วมมือภาคเอกชนในพื้นที่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ห้างร้าน หรือโรงแรม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการจัดตั้งจุดประปาหัวแดงในบริเวณที่ภาคเอกชนดูแล
เชียงใหม่ได้อะไร
- ความปลอดภัยสูงขึ้น ลดความเสียหายและความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินขณะเกิดเพลิงไหม้
- ลดเวลาในการควบคุมเหตุไฟไหม้ หน่วยดับเพลิงเข้าถึงน้ำได้อย่างรวดเร็วและสามารถควบคุมสถานการณ์ไฟไหม้ได้รวดเร็วขึ้น
- เชียงใหม่มีความพร้อมในการจัดการน้ำในภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม หรือภัยแล้งที่ต้องการน้ำด่วน ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจมากขึ้น