31. เชียงใหม่ไร้ขยะ เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน

ปัจจุบัน

ปัจจุบันเชียงใหม่มีปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของประชากร เฉลี่ยประมาณ 1,475 ตันต่อวัน ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 300 ตันต่อวัน และกำจัดอย่างถูกวิธี 750 ตันต่อวัน แต่ยังมีขยะมูลฝอยที่กำจัดไม่ถูกต้องและตกค้างอีกกว่า 800 ตันต่อวัน อ้างอิงจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศ ปี 2566 กรมควบคุมมลพิษ

ซึ่งการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลนครเชียงใหม่เริ่มจากต้นทางโดยควบคุมปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเก็บขนถ่ายและขนส่งไปยังกระบวนการจัดการขยะ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในด้านต่างๆ เช่น สถานที่ทิ้งขยะ การคัดแยกขยะของชุมชน การจัดการขยะแบบผิดวิธี ทำให้มีขยะที่ถูกนำไปฝังกลบและขยะตกค้างจำนวนมากในทุกๆ ปี การนำเอาเทคโนโลยีทางกลและชีวภาพเข้ามาช่วยในการจัดการปัญหาขยะของเมือง โดยการแปรรูปขยะเพื่อเป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่ดีในการจัดการปัญหาขยะ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน 

เปลี่ยน

เทศบาลนครเชียงใหม่จะจัดการปัญหาขยะในเมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืนผ่านการแปรรูปขยะ โดย

  • นำขยะชุมชนในเขตมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) และสารปรับปรุงดิน โดยใช้เทคโนโลยีทางกลและชีวภาพ หรือเทคโนโลยี MBT (Mechanical & Biologcal Treatment Technology)
  • เป้าหมายรองรับขยะชุมชนได้ 160 ตันต่อวัน และเดินระบบ 365 วันต่อปี ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้คิดคาร์บอนเครดิตโดยเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 35,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • พัฒนาระบบการจัดเก็บและขนส่งขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ขยะ RDF ที่คัดแยกแล้วสามารถนำไปแปรรูปได้อย่างรวดเร็วและลดความชื้นหรือการเน่าเสียของขยะ

เชียงใหม่ได้อะไร

  • ลดปริมาณขยะชุมชนที่นำไปฝังกลบและการสะสมของขยะที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศและน้ำเน่าเสียจากการสลายตัวของขยะ
  • ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทน พัฒนาสิ่งแวดล้อมของเมือง
  • เกิดจิตสำนึกและความร่วมมือในการช่วยกันจัดการปัญหาขยะภายในชุมชน
Scroll to Top