20. ทวงคืนทางเท้า สู่เชียงใหม่เมืองคนเดินได้ เดินดี

ปัจจุบัน

เมืองเดินได้ คือ พื้นที่หรือย่านของเมืองที่จุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่ในระยะที่เดินเท้าถึง หรือประมาณ 500-800 เมตร มีการกำหนดแหล่งที่เป็นจุดหมายปลายทางที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนไว้ 6 ข้อ ได้แก่ แหล่งงาน สถานศึกษา แหล่งจับจ่ายใช้สอย พื้นที่นันทนาการ สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม และสถานที่ขนส่งสาธารณะ

การเดินเท้าเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนทั้งในระดับบุคคล ช่วยเพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายและสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนในระดับสังคม การเดินเท้าช่วยกระจายรายได้ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระดับย่าน เกิดพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและสาธารณะ

จากการศึกษาสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเดินพบว่าคุณภาพการเดินเท้าในเมืองเชียงใหม่ยังมีข้อจำกัดและปัญหาหลายประการ เช่น ความกว้างเฉลี่ยของทางเท้ามีเพียง 1.2 เมตร ทางเท้าบางแห่งมีสิ่งกีดขวาง พื้นที่ทางเท้าหลายพื้นที่ถูกรุกล้ำ มีแสงสว่างไม่เพียงพอ รวมถึงคุณภาพของพื้นทางเท้าไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้ประชาชนเชียงใหม่ไม่สามารถใช้ทางเดินเท้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

เปลี่ยน

เทศบาลนครเชียงใหม่จะแก้ไขปัญหาพื้นที่ทางเท้า รวมถึงการออกแบบจุดเชื่อมต่อในย่านต่าง ๆ ของเมือง จนพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองเดินได้ 

  • ทวงคืนทางเท้าจากสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ เพิ่มพื้นที่ทางเท้าให้เพียงพอ เริ่มต้นจากย่านที่มีสถานที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคน เช่น ย่านคลองแม่ข่า ท่าแพ ตลาดวโรรส พื้นที่ด้านในคูเมือง
  • ปรับปรุงพื้นที่ทางเดินเท้าให้มีคุณภาพและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดิน สะดวก ปลอดภัย มีแสงสว่างเพียงพอ บรรกากาศร่มรื่น   
  • ร่วมมือกับหน่วยงานเพื่อออกแบบพัฒนาเมืองในระดับย่าน  สำรวจพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางเดินเท้าในแต่ละย่าน

เชียงใหม่ได้อะไร

  • มีพื้นที่ในเมืองที่คนสามารถเดินเท้าได้สะดวก ปลอดภัย เข้าถึงสถานที่สำคัญในการใช้ชีวิตได้ในระยะเดินเท้า ผู้คนออกมาทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ลดมลภาวะทางอากาศ
  • คนเชียงใหม่มีสุขภาพดี มีแรงจูงใจให้คนออกมาเดินและทำกิจกรรมทางกาย อัตราการเจ็บป่วยลดลง
  • กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยวในภาพรวม กระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก
Scroll to Top