ปัจจุบัน
ระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตขับเคลื่อนโดยรถสองแถว โดยเฉพาะรถสี่ล้อแดง มีลักษณะเป็นรถโดยสารรับจ้างสองแถวขนาดเล็กที่ให้บริการในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ มีการเก็บค่าบริการตามระยะทาง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ รถวิ่งไม่ประจำทาง การให้บริการไม่เป็นมาตรฐาน วินัยในการขับขี่รถ ไม่ปฏิบัติตามกฏจราจร รวมถึงอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นตามตามกำหนด โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติ
การพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้เกิดรูปแบบการให้บริการขนส่งผ่านแอปพลิเคชันที่สะดวกและรวดเร็วกว่า ส่งผลให้การใช้บริการรถสี่ล้อแดงของคนเมืองและนักท่องเที่ยวลดจำนวนลง จนเกิดเป็นกระแสเรียกร้องของคนขับรถสี่ล้อแดง ในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU รถสาธารณะ ผู้ประกอบการ และรถรับจ้าง จ.เชียงใหม่ ภายใต้กรอบการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เนื่องจากเป็นสาเหตุให้รายได้ของคนขับรถสี่ล้อแดงลดลง บวกกับวิกฤตราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งคนขับรถและผู้รับบริการ
เปลี่ยน
เทศบาลนครเชียงใหม่จะร่วมมือกับสหกรณ์นครลานนาเดินรถ(เจ้าของสัมปทาน) เพื่อหาแนวทางในการสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่มีมาตรฐาน ปรับรูปแบบการให้บริการตามยุคสมัย โดย
- ควบคุมราคาค่าโดยสารและต้นทุนค่าโดยสาร มีการติดตั้งมิเตอร์หรือกำหนดอัตราค่าโดยสารให้ชัดเจนตามระยะทาง พัฒนาระบบการเข้าถึงบริการด้วยเทคโนโลยี เช่น การนำรถสี่ล้อแดงเข้าระบบแผนที่ Google Map
- กำหนดเส้นทางเดินรถเป็นแบบประจำทาง โดยเน้นพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก มีจุดเชื่อมต่อย่อยระหว่างชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด วัด หน่วยราชการ สถานีขนส่งผู้โดยสาร เพื่อเสริมเส้นทางย่อยที่รถเมล์หรือรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ไม่ได้วิ่งผ่าน ตอบสนองการใช้งานของคนในท้องถิ่น
- จัดระเบียบการให้บริการระหว่างรถสี่ล้อแดงและรถโดยสารชนิดอื่นไม่ให้เกิดการซ้อนทับกัน เพิ่มสวัสดิการและรายได้ของคนขับรถสี่ล้อแดง
เชียงใหม่ได้อะไร
- ประชาชนในเขตพื้นที่เชียงใหม่ มีขนส่งสาธารณะอย่างทั่วถึงทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางย่อย เข้าถึงบริการรถสี่ล้อแดงได้ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม สะดวกรวดเร็วมากขึ้น
- เกิดภาพจำใหม่ของรถสี่ล้อแดง ทั้งด้านภาพลักษณ์ภายนอก การประชาสัมพันธ์ การเข้าถึง สร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้ใช้บริการ จูงใจให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้น
- ลดข้อพิพาทระหว่างคนขับรถสี่ล้อแดงและรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน