ปัจจุบัน
เชียงใหม่ประสบปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องมาจากระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งขนส่งมวลชน รถประจำทาง รวมถึงการใช้บริการจากแอปพลิเคชันซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง คนเชียงใหม่จึงนิยมใช้รถจักรยานยนต์ส่วนตัว ซึ่งมีสัดส่วนถึง 54% รองลงมาคือรถยนต์ 44% และอื่น ๆ 2% ( อ้างอิงจากจำนวนรถจดทะเบียนสะสม จ.เชียงใหม่ ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 กลุ่มสถิติการขนส่ง ) ส่งผลให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควัน รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึง
เชียงใหม่เคยให้บริการรถเมล์ขาว ซึ่งเป็นรถโดยสารสาธารณะแบบปรับอากาศ สีขาว จำนวน 20 ที่นั่ง อัตราค่าบริการ 15 บาท เป็นเวลากว่า 18 ปี ( 2546 – 2564 ) แต่ยุติการให้บริการลง จากการขาดทุนและสถานการณ์โควิด เนื่องจากรถเมล์ไม่ได้อยู่ในเส้นทางคมนาคมหลักที่ผู้คนจะใช้บริการ รวมถึงปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่ง ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการให้บริการรถโดยสารสาธารณะโดยภาคเอกชน ในชื่อ RTC Chiang Mai City Bus โดยจะเน้นไปที่เส้นทางที่ผ่านจุดท่องเที่ยวของเมืองเป็นหลัก แต่ยังขาดเส้นทางสายรอง ที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชน – ตลาด – ส่วนราชการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือ สถานที่สำคัญในชีวิตประจำวัน
เปลี่ยน
เทศบาลนครเชียงใหม่ จะดำเนินการให้บริการรถโดยสารสาธารณะภายใน 4 ปี โดยมุ่งเน้นประโยชน์เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่สามารถใช้งานได้จริง
- ฟื้นคืนรถเมล์ขาว นำรถเมล์ขาวในอดีตของเชียงใหม่กลับมาให้บริการอีกครั้ง พร้อมกับพัฒนาคุณภาพ รวมถึงขยายเส้นทางการเดินรถไปสู่พื้นที่สำคัญ อาทิเช่น ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ วัด และตลาด เพิ่มปริมาณรถและจำนวนรอบการเดินรถให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยตั้งเป้าอัตราค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสาย
- สำรวจเส้นทาง รวบรวมและสำรวจข้อมูล เพื่อค้นหาเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงของประชาชนในพื้นที่ โดยไม่ไปซ้อนทับกับเส้นทางเดินรถของภาคเอกชน
- อำนวยความสะดวกให้ประชาชน สนับสนุนงบประมาณเพื่อประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว พัฒนาคุณภาพระบบขนส่งให้ง่ายต่อการเข้าถึง ทั้งการเพิ่มจุดป้ายรถเมล์ แสดงเวลา จำนวนรอบการเดินรถ เส้นทางเดินรถ รวมถึงการนำเสนอข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์
เชียงใหม่ได้อะไร
- เชียงใหม่มีรถโดยสารสาธารณะกระจายอย่างทั่วถึง ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ในราคาที่เข้าถึงได้ สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ลดเวลาในการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย
- อัตราการใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนตัวลดลง ลดปัญหาการจราจรติดขัด มลภาวะทางอากาศ และอุบัติเหตุบนท้องถนน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่ เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน