14. Live House แหล่งชุมนุมของคนรักดนตรี

ปัจจุบัน

เชียงใหม่มีความพยายามที่จะขับเคลื่อนเมืองให้พัฒนาไปสู่เมืองดนตรี มีมหาวิทยาลัย โรงเรียนดนตรีจำนวนมาก รวมถึงมีการส่งนักดนตรีที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาดเพลงจนได้รับการยอมรับในระดับประเทศ แต่นักดนตรีท้องถิ่นของเชียงใหม่กลับไม่มีพื้นที่สำหรับแสดงผลงานอย่างแท้จริง ทำให้การพัฒนาสู่เมืองดนตรียังมีข้อจำกัดอีกมาก นักดนตรีเชียงใหม่ไม่ได้รับสวัสดิการ ค่าตอบแทน รวมถึงสิทธิที่ควรได้รับอย่างเป็นรูปธรรมและเท่าเทียมกับสายอาชีพอื่น อีกปัจจัยหนึ่งคือผู้บริโภคยังไม่ให้ความสำคัญกับการฟังดนตรี คนในเชียงใหม่บางส่วนยังไม่เปิดใจรับฟังดนตรีที่หลากหลาย วัฒนธรรมการฟังเพลงของคนมักเป็นส่วนประกอบเพื่อเสริมบรรยากาศระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์หรือนั่งทานอาหารเนื่องด้วยสถานที่ในการจัดแสดง การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สำหรับแสดงดนตรีอย่างจริงจังจึงมีส่วนช่วยผลักดันวงการดนตรีของเมืองเชียงใหม่ให้พัฒนาต่อไปมากขึ้น

เปลี่ยน

เทศบาลนครเชียงใหม่จะผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีและสนับสนุนนักดนตรีท้องถิ่น โดย

  • จัดตั้งสถานที่สำหรับจัดแสดงดนตรีในร่ม (Live House) เพื่อสนับสนุนกลุ่มนักดนตรีเชียงใหม่ให้มีพื้นที่เพื่อการแสดงความสามารถทางดนตรีโดยเฉพาะ สามารถจัดได้ทั้งกลางวันและกลางคืนโดยไม่จำกัดการเข้าถึงของผู้ชม เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีก็สามารถเข้าร่วมรับฟังได้  
  • งานกิจกรรมของเทศบาลนครเชียงใหม่ หากมีส่วนของการจัดแสดงดนตรี ต้องเลือกนักดนตรีที่ปกติแสดงในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ก่อนเป็นอันดับแรก

เชียงใหม่ได้อะไร

  • นักดนตรีท้องถิ่นมีพื้นที่จัดแสดงผลงานในแนวเพลงของตัวเองอย่างอิสระ ได้รับรายได้และสวัสดิการที่เหมาะสม
  • ชาวเชียงใหม่ได้เสพศิลปะและดนตรี คนรักดนตรีได้เปิดประสบการณ์การฟังดนตรีรูปแบบใหม่ๆ เกิดกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่สาธารณะเพื่อการชมดนตรีอย่างแท้จริง
  • เชียงใหม่กลายเป็นเมืองดนตรี ธุรกิจดนตรีเกิดการขยายตัว รวมไปถึงอาชีพอื่นในวงการดนตรี เช่น วิศวรเสียง นักออกแบบ ผู้จำหน่าย-ซ่อมอุปกรณ์เกี่ยวกับดนตรี กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงดนตรี มีการแสดงสู่ระดับสากล
Scroll to Top