ปัจจุบัน
ในพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่นั้น พื้นที่เศรษฐกิจในอุตสาหกรรมจะเกี่ยวข้องกับภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น โรงแรม ร้านอาหาร บริการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่กำลังจะสูญหายไปนั้นคือ สินค้าท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ เช่น งานสินค้าด้านหัตกรรมจักรสานไม้ของชุมชนศรีปันครัว หรือ ไข่คว่ำจากชุมชนควรค่าม้า โคมล้านนาจากย่านเมืองสาตร เครื่องเงินวัวลาย ฯลฯ ซึ่งงานเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปเนื่องจากไม่ได้รับการจัดทำฐานข้อมูลที่ดี ไม่มีการจดบันทึกเรื่องราวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้สิ่งต่างๆที่ควรอนุรักษ์ไว้จางหายไป
เปลี่ยน
- เทศบาลเปิดรับข้อมูลจากภาคประชาชนเรื่องสินค้าท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาจัดทำฐานข้อมูล ลงพื้นที่พูดคุยหาแนวทางกับผู้ประกอบการในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาด
- นำข้อมูลที่ได้รับมาเรียบเรียงและจัดระบบให้เป็นฐานข้อมูลที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือสามารถนำไปต่อยอดในด้านต่าง ๆ ตามความต้องการ
- แผนในระยะยาวนั้นเทศบาลจะเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ เช่น วิเคราะห์ด้านการตลาด การพัฒนาคุณภาพสินค้า การสร้างเอกลักษณ์และคุณค่าของสินค้า การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพัฒนาแบรนด์ใหม่ นำร่องสินค้าให้เข้าสู่ตลาดท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ
เชียงใหม่จะได้อะไร
- อนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ฐานข้อมูลสินค้าท้องถิ่นสามารถใช้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาและศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น ช่วยอนุรักษ์และสืบทอดให้คนรุ่นหลัง รวมถึงเพิ่มความน่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยว
- เทศบาลบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดทำฐานข้อมูลช่วยให้เทศบาลสามารถจัดเก็บและจัดการข้อมูลสินค้าได้อย่างเป็นระบบ ทำให้ง่ายต่อการค้นหาและติดตามการพัฒนา รวมถึงการวางแผนในอนาคต
- ช่วยให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้าท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายและสร้างตลาดให้กับสินค้าท้องถิ่น