102. พัฒนาเชียงใหม่แบบมีส่วนร่วมด้วยคณะกรรมการสภาฯ เชิงประเด็น

ปัจจุบัน

สภาเทศบาลนครเชียงใหม่มีกลไกตามอำนาจหน้าที่ในการตั้งคณะกรรมการซึ่งมีบทบาทและหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการธิการของรัฐสภา เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่คณะกรรมการแล้วรายงานต่อสภา ดังนั้นคณะกรรมการจึงถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสำคัญใดๆ และทำให้การทำงานของสภาเทศบาลนครเชียงใหม่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันสภาเทศบาลนครเชียงใหม่มีการตั้งคณะกรรมการเพียงแค่ คณะกรรมการวิสามัญเทศบัญญัติงบประมาณ หรือคณะกรรมการเทศบัญญัติทั่วไป แต่ไม่ปรากฎการตั้งคณะกรรมการในระดับงานตรวจสอบกิจการของเทศบาลนครเชียงใหม่

เปลี่ยน

เทศบาลนครเชียงใหม่จะเพิ่มงบประมาณด้านกิจการสภา โดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการ การตั้งคณะกรรมการชุดสามัญอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการจัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแลและสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและทันสมัย โดยแยกกิจการสภาออกจากสำนักปลัด เพื่อเพิ่มความเป็นอิสระในการบริหารงาน นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดสามัญเพื่อครอบคลุมการดำเนินงานของเทศบาลนครเชียงใหม่ในด้านต่าง ๆ เช่น

  • คณะกรรมการกิจการสภา
  • คณะกรรมการสาธารณสุข
  • คณะกรรมการคมนาคมและโยธา
  • คณะกรรมการพัฒนาชุมชน
  • คณะกรรมการการศึกษา เด็กและเยาวชน
  • คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และสาธารณภัย

การเพิ่มงบประมาณนี้จะถูกนำใช้เพื่อสร้างศักยภาพในการดำเนินงานของคณะกรรมการ โดยการนำไปพัฒนาระบบการจัดการ การฝึกอบรมเชิงลึกให้กับสมาชิกคณะกรรมการ รวมถึงพัฒนาเครื่องมือและระบบตรวจสอบที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 

เชียงใหม่ได้อะไร

  • การแยกคณะกรรมการตามประเภทงานจะทำให้แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ได้รับการพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้ตรงจุด รวดเร็ว และมีคุณภาพมากขึ้น โดยคณะกรรมการเหล่านี้ยังสามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อพัฒนาแผนงานที่เหมาะสมกับบริบทของเมืองได้
  • ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ จะสามารถติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของแต่ละโครงการได้ชัดเจน ทั้งยังสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างแม่นยำ ทำให้ความไว้วางใจในสภาเทศบาลเพิ่มขึ้น
  • เมื่อคณะกรรมการมีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนตามประเภทของปัญหา ประชาชนที่มีข้อเสนอแนะหรือพบปัญหาในด้านใดจะสามารถติดต่อและทำงานร่วมกับคณะกรรมการนั้นๆ ได้โดยตรง ทำให้เกิดการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการพัฒนาท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น
Scroll to Top